การแต่งกายสมัยอยุธยา

     สมัยอยุธยานับตั่งแต่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1983 ในสมัยนี้ศิลปะการร้องรำทำเพลงเจริญขึ้นมาก ประชาชนรู้จักรักสวยรักงาม ชาวบ้านเริ่มปลดกางเกง หรือสนับเพลาออกบ้างแล้วคงใช้แต่พวกขุนนางฝ่ายทหารและพลเรือน การแต่งกายแบบเขมรจึงถูกดัดแปลงโดยปล่อยให้ยาวถึงใต้เข่าเป็น “นุ่งโจงกระเบน”เสื้อคอกลมแขนกรอมศอก ผู้หญิงนุ่งผ้าจีบและผ้ายกห่มสไบเฉียง สวมเสื้อบ้าง โดยมากเป็นแขนกระบอก เนื่องจากในสมัยอยุธยาเป็นราชธานียาวนานถึง 417 ปี เกิดสงครามขึ้นบ่อยครั้ง เหตุการณ์ทั้งหลายจึงมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของการแต่งกาย แบ่งออกได้ 3 รูปแบบ คือ
  1. การแต่งกายตามกฎมณเฑียรบาล เป็นแบบของเจ้านายหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ตลอดจนพวกที่มีฐานะทั้งหลายจะแต่งกายในลักษณะนี้ตามไปด้วย และการเกล้ามวยของผู้หญิงยังคงนิยมกันอยู่
  2. ในระยะกลาง ชาวบ้านเริ่มมีการนุ่งโจงกระเบน ทางแถบเมืองเหนือ ผู้ชายอาจไว้ผมยาว ส่วนทางใต้ลงมา ตัดผมสั้นลง ต่อมาสมัยพระนารายณ์ มีการตัดผมเรียกว่า “ทรงผมมหาดไทย” ส่วนผู้หญิงไทยยังคงไว้ผมยาว จนถึงสมัยขุนหลวงบรมโกศ และนิยมห่มสไบกันมาก
  3. ยุคสงคราม ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ต้องมีการสู้รบเพื่อรักษาเอกราช ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต้องช่วยกันต่อสู้กับศัตรูด้วย การแต่งกายจึงแปรผันบ้าง ผู้หญิงตัดผมสั้นลง เพื่อปลอมเป็นผู้ชาย และสะดวกในการหนีภัย เสื้อผ้าอาภรณ์จึงต้องตัดทอนไม่ให้รุ่มร่ามเป็นอุปสรรคแก่การเคลื่อนที่และเคลื่อนไหว มีการห่มผ้า “ตะเบ็งมาน” คือห่มไขว้กันแล้วรวบไปผูกไว้หลังคอ ส่วนผู้ชายไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีก
    การแต่งกายในสมัยกรุงศรีอยุธยายังแบ่งออกเป็น 5 สมัยได้อีกดังนี้
  1. สมัยอยุธยาสมัยที่ 1 (พ.ศ. 1893-พ.ศ. 2091) ผู้หญิงนุ่งซิ่นจีบหน้าเหมือนกับสมัยสุโขทัย สวมเสื้อแขนกระบอก คอกลม ผ่าอก แต่ตัวเสื้อเข้ารูป ยาวกว่าเดิม มีผ้าคลุมสะโพกไว้ ด้านในของตัวเสื้อ แต่ปล่อยชายยาวออกมาข้างนอก คล้ายกับเสื้อในของสตรียุคเชียงแสนระยะแรก ที่ชายปล่อยเลยลงมาทับผ้าซิ่น แต่ต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเสื้อไป โดยต่อเข้ากับชายเสื้อลงมาอีกทีหนึ่ง ผู้ชายนุ่งกางเกงยาวลงมาครึ่งหน้าแข้ง ปลายขาเรียวเล็กกว่าเดิม มีผ้าหยักรั้งแบบเขมรซ้อนทับตัวกางเกง แต่ชายผ้ายาวเสมอเข่า นิยมใช้ผ้าคาดเอว สวมเสื้อคอแหลมยาวจรดข้อมือผ่าอก สาบซ้ายทับสาบขวา มีผ้ากุ๊นตรงปลายแขน คอ สาบหน้า และชายเสื้อ ผู้ชายมหาดเล็กและคนรับใช้ตัดผมสั้น การแต่งหน้า ผู้หญิงสมัยนี้นิยมแต่งหน้ามากกว่าเดิม เป็นเพราะมีการติดต่อกับคนต่างชาติมากขึ้น
  2. อยุธยาสมัยที่ 2 (พ.ศ. 2091-พ.ศ. 2163) ผู้หญิงนุ่งกางเกงหรือโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก คอกลม ผ่าอก ไม่นิยมสไบ ตัดผมสั้นเพื่อดูเป็นชาย แต่จะหวีเสยขึ้นไป ไม่แต่งหน้า นิยมซ่อนสิ่งมีค่าโดยการใส่โอ่งฝังดิน เพราะกลัวข้าศึกจะมายึดเอาไป ไม่กล้านำมาตกแต่งอย่างเปิดเผย
  3. อยุธยาสมัยที่ 3 (พ.ศ. 2163-พ.ศ. 2199) ผุ้หญิงนุ่งผ้าจีบซ้อนกัน มีชายพก ยุคนี้การเกษตรกรรมและการค้าขายเจริญขึ้น เพราะมีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายหลายเชื้อชาติ ผู้หญิงไทยเริ่มออกไปประกอบอาชีพนอกบ้าน ไม่นิยมสวมเสื้อ หากแต่ใช้สไบบางพันรอบอก แล้วตลบขึ้นไปพาดเฉียงบนบ่าไว้ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน หากเป็นข้าราชการทหารและพลเรือนจะนุ่งกางเกงตามแบบของตน สวมเสื้อคอกลม แขนครึ่งท่อน มีผ้าขาวม้าคาดทับตัวเสื้อ ทรงผม ผู้หญิงเกล้าผมอย่างเดียว แต่มวยผมคล้ายญี่ปุ่น เพราะชาวญี่ปุ่นเข้ามามากกว่าในสมัยใด ๆ จึงรับเอาวัฒนธรรมการแต่งกายของญี่ปุ่นบางส่วนเข้ามา ผู้ชายเลิกไว้ผมยาวและเกล้าผม เปลี่ยนมาตัดผมสั้น คงไว้เฉพาะตอนบน รอบ ๆ ศีรษะตัดสั้น ส่วนต่ำลงมาโกน เรียกว่า “ทรงมหาดไทย” และสวมลอมพอก คือเครื่องสวมศีรษะรูปยาวแหลมคล้ายชฎา เพื่อให้ดูทรงผมสูงดังเดิม ทำให้กลายเป็นชฎายอดแหลม ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
  4. อยุธยาสมัยที่ 4 (พ.ศ. 2199-พ.ศ. 2275) ผู้หญิงเปลี่ยนมานุ่งผ้าซิ่น ส่วนใหญ่ผู้หญิงในราชสำนักสวมเสื้อ ผ่าอกคอแหลม (แต่เดิมนิยมสวมเสื้อคอกลมป แขนกระบอกยาวจรดข้อมือ ผู้หญิงชาวบ้านห่มสไบ มี 3 แบบ คือ รัดอก สไบเฉียง และห่มตะเบ็งมาน การแต่งกายลักษณะนี้เหมาะสำหรับเวลาทำงาน บุกป่าฝ่าดง ทำให้เกิดความคล่องแคล่ว จึงนิยมห่มกันมากเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เพราะต้องต่อสู้กับข้าศึกอีกครั้งหนึ่ง ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน ใช้ผ้าขาวม้าคล้องคอแล้วตลบไปห้อยชายไว้ทางด้านหลัง หากออกนอกบ้านก็จะสวมเสื้อคอกลมผ่าอก แขนยาวจรดข้อมือ ส่วนในงานพิธีจะสวมเสื้อยาวถึงหัวเข่า ติดกระดุมด้านหน้า 8-10 เม็ด แขนเสื้อกว้างและสั้นมาก ปรกลงมาไม่ถึงข้อศอก และนิยมสวมหมวกแบบต่าง ๆ กัน ขุนนางจะสวมลอมพอกยอดแหลมกว่าเดิมโดยทั่วไปทั้งผู้ชายและผู้หญิงไม่สวมรองเท้า นอกจากไปงานพิธีจึงจะสวมรองเท้าแตะปลายแหลมแบบแขกมัวร์ ทรงผม สตรีในราชสำนักไว้ผมแบบหญิงพม่าและลานนาไทย คือเกล้าผมไว้บนกระหม่อมแล้วคล้องด้วยมาลัย ถัดลงมาปล่อ่ยผมสยายยาว นอกจากนี้นิยมผัดหน้า ย้อมฟันและเล็บให้เป็นสีดำ ไว้เล็บยาว ทาปากสีแดงเรื่อด้วย ผู้หญิงชาวบ้านนิยมตัดผมสั้นตอนบนเช่นเดียวกับผู้ชาย แล้วถอนไรผมรอบ ๆ ให้เห็นชัด ผมตอนที่ถัดลงมาไว้ยาวลงไปประบ่าเรียกว่า “ผมปีก” อีกกลุ่มหนึ่งไว้ผมสั้นมากเช่นเดียวกับผู้ชาย ผมทรงนี้เป็นที่นิยมกันมาก โดยเฉพาะในสมัยพระเพทราชา และนิยมทาน้ำมันหอมด้วย ผู้หญิงชาวบ้านชอบที่จะประแป้งลายพร้อย ไม่ไว้เล็บเนื่องจากต้องทำงานหนัก ไม่ทาแก้มทาปาก
  5. อยุธยาสมัยที่ 5 (พ.ศ. 2275-พ.ศ. 2310) ในสมัยนี้นาฏศิลป์รุ่งเรืองมาก สตรีไทยหันมานุ่งซิ่นยก จีบหน้าห่มตาด ในงานพิธีต่าง ๆ สวมเสื้อริ้วทอง ซึ่งทำด้วยผ้าไหมสลับด้วยเส้นทองแล่ง การห่มสไบมีหลายแบบ แบบแรก ห่มคล้องคอ แล้วตลบชายไปข้างหลังทั้งสองข้าง การห่มสไบชนิดนี้ใช้ทับบนเสื้อริ้วทองอีกชั้นหนึ่ง และใช้เจียระบาด (ผ้าคาดพุง) คาดไว้ตรงเอวเสื้อทีหนึ่ง แล้วปล่อยชายผ้ายาวลงมาตรงหน้า แบบที่สอง ห่มสไบเฉียง ซึ่งจะสวมเสื้อหรือไม่สวมเสื้อก็ได้ โดยมากใช้เมื่ออยู่กับบ้าน ผู้ชายยังคงนุ่งโจงกระเบนอยู่ ส่วนเจ้านายจะทรงสนับเพลาก่อนแล้วจึงทรงภูษาจีบโจง มีไหมถักรัดพระองค์ จากนั้นจึงทรงฉลองพระองค์คาดผ้าทับฉลองพระองค์อีกทีหนึ่ง
    ทรงผม มีการไว้ผม 3 แบบ ด้วยกัน คือ
  1. หวีลงมาประบ่า แสกกลางใส่น้ำมันจนดูดำขลับและมีกลิ่นหอม
  2. มีเทริดประดับศีรษะ แล้วเกล้ามวยที่ท้ายทอย (เหมือนผมพวกละคร)
  3. เกล้าผมปีกให้เห็นเป็นมวยกลางกระหม่อม ใช้เกี้ยวรัดไว้ปลายผมจึงดูบานออกคล้ายผมทรงลูกจัน และถอนไรผมรอบ ๆ ผมมวยนั้นด้วย ผู้ชายไว้ผมทรงมหาดไทย มีการทาน้ำมันหอมด้วย ในยุคนี้มีการนำขมิ้นมาทาทั่วตัวให้เหลืองดั่งทอง ผัดหน้าขาว ย้อมฟันให้ดำด้วยการกินหมาก ย้อมนิ้วและเล็บด้วยดอกเทียนให้มีสีแดง เครื่องประดับ สวมกำไลซ้อนกันหลายอัน นิยมสวมแหวนนิ้วก้อยเป็นรูปแหวนงูและแหวนประดับชนิดต่าง ๆ



    <<กลับไปสู่บทความหน้าแรก | ภาพการแต่งกายสมัยอยุธยา >>
    การแต่งกายสมัยอยุธยา | ศิลปวัฒนธรรมอยุธยา