ศิลปวัฒนธรรมอยุธยา(ตอนที่2)


ศิลปะอยุธยาตอนกลาง
     กรุงศรีอยุธยามีอายุยืนนานถึง ๔๑๗ ปี มีกษัตริย์ปกครอง ๓๔ พระองค์ หากนับรวม สมัยอโยธยา ด้วยแล้วก็ต้องเพิ่มจำนวนกษัตริย์อีกเท่าตัว
     แม้ว่าคำให้การชาวกรุงเก่า จะแจ้งว่า พระเจ้าอู่ทอง ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๑๖ ของอโยธยา แต่เมื่อศึกษา จาก พระราชพงศาวดารเหนือ จะเห็นความ เจริญมีมาหลายซับหลายซ้อน จำนวนกษัตริย์ ต้องมากกว่านั้นอย่างแน่นอน หากรวมไปถึงสมัย ทวาราวดีด้วยแล้วก็นับจำนวนไม่ถ้วน การแบ่งสมัยของศิลปะอยุธยาที่นำมาเสนอนี้แบ่งเป็นสามยุค คือสมัยอโยธยา ตอน ปลายต่อด้วยอยุธยาตอนต้น อยุธยาสมัยกลาง และอยุธยาตอนปลาย เป็นการยากที่จะแบ่งโดยเอาสามหาร จำนวนปีของสมัยอยุธยาคือเอาอายุ ๔๑๗ ปีตั้งหารสาม ได้ ๑๓๙ ปี เทียบกับ พ.ศ. ๒๐๓๒ เป็นปีสิ้นสมัยซึ่งตรงกับสมัยปลายรัชกาล พระบรมราชาที่ ๓ หรือ พระอินทราชา
     การแบ่งเช่นนี้ไม่ถูกต้องกับวิวัฒนาการของศิลปะ ด้วยกรุงศรีอยุธยา แตกทำลาย ด้วยฝีมือพม่าข้าศึก โดยฉับพลันมิได้จบอายุวิวัฒนาการของศิลปะเพียงเท่านั้น ที่จริง วิวัฒนาการ ศิลปะของอยุธยาตอนปลาย คาบเส้นไปจนถึงยุคปลายรัชกาลที่สาม แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย
     เราจึงควรแบ่งอายุและสมัยตามวิวัฒนาการศิลปะเท่าที่ปรากฏให้เห็นชัดแจ้ง จากการตรวจสอบ ศิลปะอยุธยาและค้นคว้าในศิลปะอยุธยามาช้านาน ทำให้สามารถ พอกำหนดอายุยุค สมัยของศิลปะ ได้ดังนี้
     อยุธยาตอนต้นควรสิ้นยุคเมื่อปลายรัชกาลของสมเด็จพระไชยราชา อันเป็นปี พ.ศ.๒๐๘๙ ซึ่งเป็น การสิ้นสมัย ของนักรบยุคทหารอันเกรียงไกรของอยุธยา ซึ่งเคยส่งกองทัพไปรุกรานอาณาจักรต่างๆ รอบทิศสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะ เมืองลำพูนและเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระไชยราชา ยอดทหารแห่ง สมัยอยุธยาตอนต้นได้เสด็จสวรรคตลงกลางทาง ขณะที่ยกทัพกลับคืนยังกรุงศรีอยุธยา นับแต่นี้ไป ก็เกิดวุ่นวายจลาจลภายในเมืองกรุงศรีอยุธยาเริ่มอ่อนแอลง ด้วยนางพระยาแม่อยู่หัว ศรีสุดาจันทร์ สั่งผลัดเปลี่ยนคนดีมีฝีมือออกจากราชการหมด ส่งคนของตนไปควบคุมยัง เมืองต่างๆ เป็นเหตุให้ เกิดการยึดอำนาจและพระมหาจักรพรรดิ์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ส่วนผู้เป็นต้นคิดในการ ยึดอำนาจ ครั้งนี้คือ ขุนพิเรนทรเทพ ได้เป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชา ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก เป็นเหตุ ให้เกิดการแบ่งแยกอำนาจ และท้าย ที่สุดกรุงศรีอยุธยา ก็ต้องเสียเมือง แก่พระเจ้าหงสาวดีกษัตริย์ มอญ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ ณ ยุคสมัยวุ่นวายนี้ กรุงศรีอยุธยาเริ่มปั่นป่วน เกิดศึกภายในและภายนอก ความรุ่งโรจน์ของศิลปะหยุดชงักลง อิทธิพลศิลปะ จากยุโรปได้เริ่มแพร่หลายเข้า กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ปลายสมัยพระไชยราชาเป็นต้นมาจนถึงสมัย พระนเรศวรมหาราช ก็เป็นยุคที่บ้านเมือง เกิด ทรุยุค ด้วยไทยเสียเอกราชแก่มอญนานถึง ๑๖ ปี ถูกขนเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ทรัพย์สมบัติไป จน หมดสิ้น บ้านเมืองจึงยากจนมาก พระอารามซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงเป็นวัด ที่เล็กมาก ดังพระราชพงศาวดารบันทึกถึงการสร้างวัดไว้ดังนี้
     "แลพระบาทสมเด็จบรมนารถบพิต พระเจ้าอยู่หัวเสด็จสร้างพระโพธิสมภารบำเพ็ญพุทธการกธรรมบรมวรรคอาทิคือสร้างวัดวรเชษฐารามมหาวิหารอันรจนาพระพุทธปฏิมามหาเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุสำเร็จกุฏีสถานปราการสมด้วยอรัญวาสีแล้วก็สร้สงพระไตรปิฏกธรรมจบบริบูรณ์ทั้งพระบาลีอรรถกถาฏีกาคันถีวิวรณ์ทั้งปวงจึงแต่งหอพระธรรมเสร็จก็นิมนต์พระสงฆ์อรัญวาสีผู้ทรงศีลาทิคุณอันสลักเลขมาอยู่ครองพระวรเชษฐารามนั้นแล้ว"วัดวรเชษฐารามนี้เข้าใจว่าสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแก่พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระเชษฐาของพระองค์เมื่อได้ตรวจดูภูมิฐานของวัดแล้วเห็นว่าเป็นวัดขนาดกลางไม่ใหญ่โตเหมือนสมัยอยุธยาตอนต้นพระอุโบสถขนาดเล็กใช้ระบบผนังรับน้ำหนักไม่มีเสากลางแม้พระวิหารใหญ่หน้าเจดีย์ก็เช่นกันก่อผนังปูนด้านหน้าและหลังขึ้นไปยันอกไก่โดยไม่ใช้หน้าบันสลักไม้อย่างแต่ก่อนที่หน้าบันประดับด้วยถ้วยจานลายครามงดงามพระพุทธรูปในพระอุโบสถก่ออิฐถือปูนแม้ที่พระวิหารก็ก่ออิฐถือปูนเช่นกันไม่ใช่พระศิลาเหมือนสมัยอโยธยาและอยุธยาตอนต้นพระเจดีย์หลังพระอุโบสถเป็นเจดีย์แบบลังกาแต่มีลูกแก้วใต้ระฆังมากขึ้นลักษณะเป็นเจดีย์ลังกาที่วิวัฒนาการมาจากเจดีย์กลมอันเป็นเจดีย์รายวัดพระศรีสรรเพชญ์...
     พระอุโบสถสมัยอยุธยาตอนกลาง มักจะมีลักษณะ ดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือไม่มีเสากลางสองแถว ไม่มีเสาพาไลด้านข้างด้วย ทรงวิหารขนาดกะทัดรัด ไม่ใหญ่โตอะไร จึงใช้ระบบผนังรับน้ำหนักเครื่องบนหลังคาแทนที่ พระอุโบสถแบบนี้ยังมีเหลือ ให้เห้นหลายแห่ง เช่นที่วัด ราชบรรทม ซึ่งทำหลังคาระบบโบราณ คือ ทำเสาดั้งตั้งบนเครื่องบน ของปีกนกสมัยอยุธยาตอนกลางรุ่นปลาย เปลี่ยนเป็นใช้ระบบเสายื่นข้างหน้าและหลัง ด้านละสอง เสารับหลังคาลดชั้น ดังเช่นพระวิหารเก่าวัดราชคฤห์ธนบุรี พระอุโบสถวัด เกาะเพชรบุรี และ พระ อุโบสถวัดปราสาท นนทบุรี เป็นต้น
     เราควรจะแบ่งลักษณะตัวอาคารสมัยอยุธยาตอนกลาง ออกเป็นสามแบบ แบบที่ ๑ เป็นสมัยต้น , แบบที่ ๒ สมัยกลาง , แบบที่ ๓ สมัยปลาย ดังนี้
  1. แบบที่ ๑ พระอุโบสถขนาดย่อม ผนังด้านข้างทึบ ไม่มีหน้าต่าง ผนังด้านหลังทึบเป็นแบบมหาอุด เครื่องบนหลังคา เสาดั้งตั้งบนปีกนกอีกต่อหนึ่ง พระอุโบสถแบบนี้ปรากฏที่วัดราชบรรทมใกล้กับทุ่งหันตราทางทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา พระอุโบสถวัดตึกซึ่งอยู่ตรงข้ามคูเมืองกับวัดศาลาปูน, และพระอุโบสถวัด วรเชษฐาราม เป็นต้น
  2. แบบที่ ๒ ก็เช่นเดียวกับแบบที่ ๑ แต่มีเจาะประตูออกด้านข้างทั้ง ๒ ข้าง หรือมีหน้าต่างเล็ก ข้างละบาน ผนังคง เป็นมหาอุดมมีเสาหน้า ๒ เสา เช่น พระวิหารวัดราชคฤห์ธนบุรี หรือผนังด้าน ข้างต้น แต่มีประตูออกหลังวิหารคือ อุโบสถ เช่น วัดเกาะเพชรบุรี และวัดอีกหลายวัดในธนบุรี
  3. แบบที่ ๓ วิวัฒนการจากแบบที่ ๒ ด้านข้างแทนที่จะมีหน้าต่างหรือประตูบานเดียว กลับเป็น ๒ บาน หรือ ๓ บาน แต่ไม่เจาะถี่เป็นต้นแบบอยุธยาตอนปลาย มีประตูเข้า ๒ ทางหรือ ๓ ทาง ทั้งหน้า และ หลัง อาคารแบบนี้เห็นได้ทั่วไป ทุกหนทุกแห่ง

     ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง ควรจะสิ้นสุดในปลายรัชกาลของพระเจ้าปราสาททอง เมื่อพ.ศ. ๒๑๙๘ ซึ่งมี ระยะเวลายืนนาน ถึง ๑๐๙ ปี เมื่อเริ่มรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วได้มีศิลปะจาก ยุโรปเข้ามีบทบาทผสมผสาน กับศิลปะไทยอย่างมาก มีผลให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ และศิลปะได้แปรผันไปโดยสิ้นเชิง เป็นวิวัฒนการก้าวสำคัญของศิลปะอยุธยา
     ลวดลายของอยุธยาตอนกลาง ปรากฏที่ลายหน้าบัน พระอุโบสถวัดราชบรรทมเป็นลายกนก ขมวดเป็นก้นหอย ตรงกลางเป็นลายรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ซ้อน เป็นชั้น ลายแบบนี้มีปรากฏให้เห็นอีกแห่งหนึ่ง ที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอไชยา และลายหน้าบัน พระอุโบสถของพระพุทธบาทสระบุรี ซึ่งสลักขึ้นในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ลายหน้าบันพระอุโบสถ วัดพระพุทธบาทสลักรูปนารายณ์ทรงครุฑที่หน้าบันมีลายกนกเป็นเครือเถาล้อมรอบลายชนิด นี้คล้ายกับลายหน้าบันสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มาก แต่สังเกตรูปครุฑกับพระนารายณ์ ผิดกัน กล่าวคือ ครุฑของวัดพระพุทธบาทเป็นครุฑหน้าเชิดแบบครุฑโขนเรือ สมัยอยุธยา ในพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติเจ้าสามพระยา ตัวนารายณ์ก็ทะมัดทะแมงแต่งเครื่องทรงมีทับทรวง ชฏาเทริดแบบอยุธยา ส่วนรูปนารายณ์ทรงครุฑสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ลักษณะครุฑหน้าเล็ก สวมชฏา ยอดแหลม มือถือนาคสองข้างถ่างออก ตัวนารายณ์สวมชฏายอดแหลม แบบรัตนโกสินทร์ ยังลวด ลายประกอบก็ผิดกัน ลายประกอบหน้าบันรอบครุฑของพระอุโบสถวัดพระพุทธบาทมีลายช่อหางโต เป็นลายชนิดเดียวกับลายสลักบานประตูพระวิหารเล็กวัดหน้าพระเมรุซึ่งเป็นลักษณะศิลปะสมัยอยุธยา ตอนกลาง
     เมื่อกล่าวถึงบานประตูสลักไม้สมัยอยุธยา ใคร่ขอย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่ง ปรากฏ ที่บานประตู ในพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ เจ้าสามพระยา เป็นลวดลายช่อหางโตซ้อนเรียง เป็นตับลงมา หรือเป็น รูปเทวดา ยืนซ้อนเป็นชั้นๆ เป็นลักษณะ คล้ายกับบานประตูวัดพระฝาง ที่วัดธรรมาราม อุตรดิตถ์ จัดว่าเป็นเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนต้นสุด สมัยต่อมา บานประตูจาก วัดพระศรีสรรเพชญ์ สมัยพระรามาธิบดีที่ ๒ สลักเป็นรูปเทวดาทวารบาลสวมชฏาเทริดมียอด ๔ ยอด มือข้างหนึ่งถือพระขรรค์ แบบประตูแบบนี้ยังมีอีกแห่งหนึ่งที่พระวิหารน้อย วัดท่าพระ ธนบุรีเป็น สมัยอยุธยาตอนต้น บานประตูสมัยอยุธยาตอนกลาง คิอบานประตูพระ วิหารวัดหน้าพระเมรุ ซึ่งนำ มาจากวัดแห่งใดแห่งหนึ่งในเกาะอยุธยา อาจจะเป็นวัดมหาธาตุ ซึ่งนำพระพุทธรูปศิลา สมัย ทวาราวดีมาก็ได้ บานประตูแบบนี้สลักเป็นรูปเทพนม หรือ กนก รูปกระจัง อยู่เบื้องบน กลางบาน เป็นรูปช่อหางโตซ้อนสลับเทพนม และมีลายประกอบเบื้องล่างเป็นกระจังใหญ่และแข้งสิงห์ ซึ่งบาน ประตูพระวิหารใหญ่วัดพนัญเชิงก็เป็นแบบเดียวกัน ลักษณะ
     ลาย ตรงกลางแผ่นบานประตู คล้ายคลึง กับลายหน้าบัน พระอุโบสถวัดพระพุทธบาทมากที่สุดบ่งว่าร่วมยุคสมัยเดียวกัน ...
     งานสลักไม้สมัย อยุธยา ยังปรากฏที่ธรรมาสน์วัดครุฑเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ธรรมาสน์วัด จรรยาวาส ใน กรุงเทพฯ อยู่ระยะยุคปลายของสมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนธรรมาสน์วัดโพธิเผือก เป็นศิลปะสมัย อยุธยา ตอนกลาง ฝีมืองานสลักไม้ ของอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งลวดลายกนก มักทำตัวลายซ้อน กันหลายชั้นหลายเชิงยิ่งเป็น กนกบนลายเครือเถา ปลายกนกจะบิดพับงอเหมือนใบไม้ คล้ายใบไม้ ธรรมชาติที่สุด
     ลักษณะลายสมัยอยุธยาตอนปลายบ่งถึงความรุ่งเรืองของตัวลายกนกอย่างสุดขีด มีปรากฏที่ลายปิดทองรดน้ำที่ตู้พระธรรม ซึ่งงดงามมาก ส่วนใหญ่เท่าที่พบมักเป็นศิลปะ สมัย อยุธยาตอนปลาย ตู้พระธรรมสมัยอยุธยาตอนต้นกับสมัยอยุธยาตอนกลางไม่ค่อยพบ พระสถูป เจดีย์ สมัยอยุธยาตอนกลาง ปรากฏให้เห็นเด่นชัดสมัยพระเอกาทศรถ เจดีย์หลักของวัดเป็น เจดีย์แบบ ลังกา ต่อมาสมัยพระเจ้าทรงธรรมไม่ปรากฏเจดีย์ให้เห็น แต่เข้าใจว่าจะเริ่มมี เจดีย์เหลี่ยมย่อ มุม สิบสองเกิดขึ้นในปลายรัชกาล นี้อย่างแน่นอน ด้วยปรากฏว่าในแผ่นดินพระเจ้า ปราสาททอง เริ่มนิยมทำเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง อย่างกว้างขวาง เช่นพระเจดีย์ใหญ่วัดชุมพลนิกายาราม ที่บางปะอินสร้างสมัย พระเจ้าปราสาททอง เป็นเจดีย์ย่อมุมสิบสองชนิดไม่มีซุ้มจรณัม และเจดีย์ ใหญ่วัดประชุมพลที่นครหลวงสมัยพระเจ้าปราสาททองเช่นกันเป็น เจดีย์รูปร่างแบบ เดียวกับ บางปะอินและเจดีย์ชนิดนี้ ก็เป็นแบบเดียวกับเจดีย์ใหญ่สององค์หน้า วัดไชยวัฒนาราม ซึ่งสร้าง ขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททองเช่นกัน
     เจดีย์ย่อมุมสิบสองนี้ ยังเป็นที่พิศวงของนักโบราณคดีทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจว่าจะสร้างขึ้นแล้วในสมัย อยุธยาตอนต้น ดังปรากฏที่องค์พระเจดีย์อนุสรณ์ สมเด็จพระนางเจ้าศรีสุริโยทัย ในสมัยพระมหาจักรพรรดิ์ เป็นเจดีย์ใหญ่มีซุ้มจรณัม รอบ เลียนแบบ มาจากปรางค์เจดีย์แบบนี้นักโบราณคดีเคยพบที่วัดเพรงร้างจังหวัดราชบุรี ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดมหาธาตุ เมื่อนักโบราณคดีกรมศิลปากรไปขุดภายในกรุเจดีย์พบแต่พระพุทธรูปทวาราวดีทั้งสิ้น แม้แผ่น ทองคำในกรุก็เป็นรูปพระพุทธรูป ทวาราวดีเช่นกัน ที่พระอุโบสถก็มีทรากพระพุทธรูปศิลา ขนาด ใหญ่ สมัยทวาราวดีหลายองค์ ซึ่งถูกนำไปไว้ยังวัดมหาธาตุ ยังมีเจดีย์ย่อมุมสิบสอง รุ่นเก่าแก่ อยู่ที่ วัดเขาเหลือ ใกล้กับวัดมหาธาตุนั่นเอง เป็นเจดีย์ย่อมุม ๑๒ ซึ่งระฆังใหญ่เตี้ยมาก มีส่วนสัดสูง เท่ากับส่วนใต้ระฆังถึงพื้นดิน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเจดีย์แบบหนึ่งของ ทวาราวดีตอนปลาย บางทีเจดีย์ แบบนี้จะนิยมสืบต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้นด้วย ซึ่งคงจะสืบทอดมาจากสมัยอโยธยาอีกต่อหนึ่ง...
     ยังมีเจดีย์ย่อมุม๑๒อีกแห่งหนึ่งที่วัดเป็นแบบอโยธยาตอนต้น เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์เก่าแก่มาก เมื่อตรวจสอบดูรูปทรงของเจดีย์ย่อมุมสิบสองที่สัดภูเขาทอง จะเห็นเป็นทรงประหลาด เนื่องด้วยส่วนของฐาน ไม่สัมพันธ์กับส่วนบนอันเจดีย์ย่อมุมสิบสอง แบบมีซุ้มจรณัมมีปรากฏให้เห็นณวัดญานเสนกับวัดสบสวรรค์ ซึ่งเป็นแบบมีฐานปัทมซ้อนกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดณานเสนเป็นเจดีย์เก่าแก่มาก อาจจะเป็นของมีมาแต่สมัยทวาราวดีก็ได้ด้วยฉัตรเหนือบัลลังก์ก็ใหญ่ ผิดกับวัดสบสวรรค์ระฆังเล็กกว่า ทรงชะลูดสูงกว่าบ่งว่า เลียนแบบมาจากวัดสบสวรรค์เจดีย์วัดสบสวรรค์ว่าตามรูปทรงซึ่งเพรียวระหง ส่วนสัดระยะช่วงใต้คอระฆังคือซุ้มจรณัมยืดออกสูง แสดงว่าเป็นของรุ่นหลังเจดีย์ภูเขาทอง กับวัดสบสวรรค์ อาจจะเป็นเจดีย์สมัยอโยธยาตอนปลายด้วยวัดสบสวรรค์มีหลักฐานใบเสมาของวัด ที่พระอุโบสถเป็นใบเสมาอโยธยา
     ส่วนเจดีย์ภูเขาทองหลักฐานก็บ่งว่าสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา บางทีพวกมอญอาจจะสร้างค้างไว้แค่ฐาน ด้วยฐาน๒ชั้นเป็นฐานลาดแบบเจดีย์มอญแท้ๆ ส่วนเจดีย์ข้างบนคงเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสองแบบอโยธยา ซึ่งสร้างเสริมขึ้นภายหลังจากมอญกลับไปสุธรรมนครแล้ว แปลนเจดีย์วัดภูเขาทองเป็นแปลนแบบก่อนกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ พระเจดีย์อยู่หลังพระวิหารซึ่งหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกด้านตรงข้ามกับวัดท่าการ้องเป็นระบบแบบเก่าก่อนสมัยอยุธยาตอนต้น เพราะถ้าเป็นวัดสมัยอยุธยาตอนต้น จะต้องหันหน้าวัดสู่ทิศตะวันออกเสมอส่วนการที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอ้างว่าสถาปนาขึ้นในสมัยพระราเมศวรนั้นก็คงจะมาปฏิสังขรณ์ให้เป็นพระอารามบริบูรณ์ดังเดิม หลังจากรกร้างมานานเท่านั้นลายปูนปั้นที่พระวิหารซึ่งเดิมเคยเข้าใจว่าเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนต้น หรืออาจจะเป็นของมีมาก่อนกรุงศรีอยุธยาด้วยซ้ำไปถ้าไม่ใช่ฝีมือช่างอยุธยาสมัยพระราเมศวรแล้วก็อาจเป็นสมัยอโยธยาตอนปลายด้วย ตัวลายแม้จะเป็นกนกแล้วก็ยังเป็นกนกขมวดแบบธรรมชาติตรวจดูในพระวิหารซึ่งใส่เสาสี่เหลี่ยม และซุ้มประตูยื่นออกมาเป็นซุ้มหนาบ่งว่าเป็นสถาปัตยกรรมก่อนกรุงศรีอยุธยาด้วยสมัยอยุธยาตอนต้นมีเฉพาะเสากลมกับเสาแปดเหลี่ยมแต่เสาวิหารวัดภูเขาทองข้างในสองแถวใหญ่มากหันหน้าพระประธานสู่แม่น้ำทางทิศตะวันตกเชื่อว่าเป็นพระวิหารสมัยอโยธยาตอนกลางอย่างแน่นอน และไม่เชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมสมัยพระราเมศวร ซึ่งสมัยอยุธยาตอนต้นเพียงมาบูรณะปฏิสังขรณ์ส่วนชำรุดให้บริบูรณ์ขึ้นเท่านั้นส่วนการที่มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยพระบรมโกฐนั้น ก็เพราะผู้สันนิษฐานไม่มีความรู้ในเรื่องลวดลายและวิวัฒนาการศิลปะดีพอนั่นเอง
     จากการพิจารณาลวดลายวัดภูเขาทองเห็นว่าเป็นระเบียบลายร่วมสมัยกับลายกำแพงเพชรอันเป็นฝีมือช่างสุโขทัย และยังคล้ายกับลายในใบเสมาอโยธยาสุพรรณภูมิหลายแห่งอีกด้วยให้สังเกตว่า ยอดลายเพื่องเป็นลักษณะคล้ายใบไม้ซึ่งเป็นลายแบบอโยธยาสุพรรณภูมิแท้ๆ สมัยอยุธยาตอนต้นลายแบบนี้ก็ปรากฏอยู่บ้างหากแต่กระเดียดไปนิยมทางลายแบบลพบุรีดังปรากฏที่ลายชั้นในที่ถูกปูนพอกทับ และกระเทาะออกของปรางค์ข้างพระอุโบสถวัดมหาธาตุนั่นเอง ลักษณะของพระอุโบสถซึ่งมีย่อมุมมาก มีลายปูนปั้นประดับรอบพระอุโบสถลักษณะเช่นนี้เป็นระเบียบของศิลปะรุ่นก่อนกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏที่วัดไลย์เป็นต้นเพียงแต่ว่าวัดไลย์มีอายุเก่าแก่กว่าเท่านั้นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสองวัดภูเขาทองเป็นเจดีย์เก่าแก่อย่างแน่นอน ด้วยมีเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสองแบบฟื้นกลับในสมัยอยุธยาตอนกลางตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมพระเจ้าปราสาททองและพระนารายณ์รูปทรงผิดเพี้ยนไปดังได้กล่าวไว้แล้ว แต่ต้นยิ่งสมัยอยุธยาตอนปลายเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสองก็ยิ่งผันแปรไปทุกทีกล่าวคือระฆังเล็กมากย่อมุมก็ถี่มากแข้งสิงห์ก็สูงมากดังเจดีย์ที่หน้าวิหารพระนอนวัดสามวิหารเป็นต้น เจดีย์แบบนี้ยังปรากฏตามที่ต่างๆอีกคือเจดีย์วัดเจดีย์แดง และเจดีย์เหลี่ยมองค์เล็กบางองค์ในวัดมหาธาตุซึ่งสมัยอยุธยาตอนปลายไปสร้างขึ้นไว้ที่น่าสังเกตได้เด่นชัดนอกจากระฆังเล็กแล้วยังมีเส้นโครงนอกเป็นรูปออกอีกด้วย เจดีย์สมัยอยุธยาตอนปลายจะมีลักษณะอยู่ในรูปทรงนี้เสมอ...
     ยังมีเจดีย์ อีกแบบหนึ่ง เป็นเจดีย์ที่วิว้ฒนาการมาจากเจดีย์ย่อมุม ๑๒ แต่ระฆังเป็นกลีบคล้ายกลีบมะเฟือง เจดีย์แบบนี้ ปรากฏอยู่ข้างถนนใกล้โบสถ์หลวงพ่อขาวที่หัวรอ และยังปรากฏเป็นเจดีย์แถว ที่วัดเสนาสน์รอบเจดีย์ลังกาองค์ใหญ่ เจดีย์แบบนี้เป็นเจดีย์สมัยอยุธยาตอนกลางอย่างแน่นอน สังเกตจากแข้งสิงห์ลักษณะป้อมๆ และทำเป็นลายหยักเข้มแข็งสวยงามมาก ซึ่งถ้าเป็นแข้งสิงห์ สมัยอยุธยาตอนปลายแล้วแข้งสิงห์จะสูงและแบบบางดังแข้งสิงห์ปูนปั้นที่ พระราชวังนารายณ์ ลพบุรี พระที่นั่งเย็น และเจดีย์สมัยอยุธยาตอนปลายทั่วไป ยิ่งอยุธยาตอนปลายมาก แข้งสิงห์จะสูงและ แบบบางยิ่งขึ้นทุกที ดังเช่นแข้งสิงห์วัดกุฏิดาว อันเป็นฝีมือช่างสมัยพระเจ้าท้ายสระเป็นต้น เจดีย์ รุ่นนี้นับว่าสวยงามมาก เท่าที่พบมีขนาดย่อมยังไม่พบขนาดใหญ่กว่านั้น
     สมัยพระเจ้าปราสาททอง เกิดความนิยมฟื้นกลับไปนิยมศิลปะแบบขอมอีกครั้งหนึ่ง วัดไชยวัฒนาราม ซึ่งสร้างขึ้น เป็นวัด ประจำรัชกาลของพระองค์ จึงใช้ปรางค์เป็นหลักของวัด แต่ก็เป็นปรางค์ที่ดัดแปลงมาจากปรางค์ อยุธยารุ่นหลัง แม้จะทำให้ขนาดใหญ่โตก็ไม่ใหญ่เท่าวัดราชบูรณะ ส่วนเมรุทิศ เมรุราย ที่พระ ระเบียงเลียนแบบมาจากขอม แต่รูปทรงยังแสดงท่าทีเป็นศิลปะอยุธยาตอนกลาง นั่นเอง ยอด เมรุทิศ เมรุราย เป็นรูปปรางค์เล็ก อิทธิพลการฟื้นกลับศิลปะขอม ซึ่งเริ่มนำแบบอย่างเป็นปฐม ก่อนที่พระราชวังนครหลวง แล้วต่อมาก็ที่วัดไชยวัฒนาราม ได้กลายเป็นแบบอย่าง สำคัญของศิลปะ ปลายสมัยอยุธยา ตอนกลาง ซึ่งส่งผลให้แก่ศิลปะอยุธยาตอนปลายโดยตรง เช่นทรงเมรุทิศเมรุราย ปรากฏให้เห็นที่ปูนปั้นซุ้มประตู วัดบรมพุทธารามสมัยพระเพทราชา และวัดตองปุ ที่ลพบุรี สมัย พระนารายณ์ เป็นต้น
     ใบเสมาสมัยอยุธยาตอนกลาง ยังคงทำด้วยหินชนวนสีเขียว แต่ขนาดเล็ก ลง ดังใบเสมาวัดวรเชษฐาราม สมัยพระเอกาทศรถเป็นต้น สมัยพระเจ้าทรงธรรม มีใบเสมาที่ขมวดที่ เอวเสมา ลวดลายแปลกพิเศษพิศดารแต่ขนาดเล็กลง และทำด้วยหินทราย ใบเสมาสมัยพระเจ้า ปราสาททอง เป็นใบเสมาแบบนั่งแท่น ตรงเอวเสมามีงอนเชิดออก เอวคอดมากขึ้น มีลวดลายกนก ที่ทับทรวง และด้านบนเสมากับที่ส่วนล่างล้วนเป็นลวดลายมีแบบแปลกๆ แตกต่างออกไป ใบเสมา แบบนี้พบที่วัด ศาลาปูนอีกแห่งหนึ่ง วัดศาลาปูนเป็นวัดโบราณ หันหน้าออกคูเมืองทางทิศใต้ มีขนาด เล็กกว่าวัดหน้าพระเมรุ พระอุโบสถมีเสาบนพาไล สองข้าง เสาเป็นแปดเหลี่ยมและ ทวยคล้าย วัดหน้าพระเมรุมากหลังอุโบสถเป็นพระเจดีย์กลมแบบ เจดีย์ลังกา สมัยหลังทางวัดรื้อ เสาพาไล ทิ้งเสียแล้ว ยังคงปรากฏเสาข้างในและลายเพดานอันเป็นแบบเก่าแก่เหมือนวัดหน้าพระเมรุที่สุด วัดนี้เข้าใจว่า สมัยอยุธยาตอนปลายคงจะทรุดโทรมมาก จึงได้ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ สมัยพระเจ้า ปราสาททอง และก็เลยผูกพัทธสีมา ขึ้นใหม่ในสมัยนั้นด้วย เนื่องจากอยุธยามีวัดจำนวนมาก และก็ มีการสร้างเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ จนบางวัดก็ปล่อยร้างเหลือกำลังที่จะปฏิสังขรณ์ ได้ดังปรากฏจาก บันทึกของ นายนิโกลาส์ แซเวส ซึ่งพรรนาไว้ในหนังสือ ของเขาเกี่ยวกับอาณาจักรสยามว่า หลายวัดถูกปล่อยให้รกร้างสลักหักพัง จมอยู่ในป่า ...
     ในรัชสมัยของสมเด็จ พระเอกาทศรถ (พ.ศ.๒๑๔๘-๒๑๖๓) กรุงศรีอยุธยาสงบราบคาบ ประเทศใหญ่น้อยรอบด้าน เช่น ลาวเขมร มลายู มอญ แม้เมืองตองอูของพม่าก็ล้วน อยู่ใต้อำนาจกรุงสยาม เนื่องจากแผ่นดินพึ่งเพลียจากสงคราม อันมีอยู่ตลอดรัชกาลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แม้จะว่างศึกก็ยังยุ่งต่อ การภายในของบ้าน เมืองอยู่ จึงไม่ปรากฏว่าได้สร้างศิลปะวัตถุไว้แห่งใด นอกจากวัดวรเชษฐาราม แห่งเดียวเท่านั้น ศิลปะวัตถุของอยุธยาตอนกลางปรากฏว่ารุ่งเรืองอย่างมากในสมัยพระเจ้าทรงธรรม และ พระเจ้า ปราสาททอง ระยะเวลาช่วง ของ ๔๐ ปีนี้ ศิลปะอยุธยาได้รับการทะนุบำรุงให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง หลังจากหยุดชะงักงันตั้งแต่คราว เสียกรุง ให้แก่เมืองหงสาวดีเป็นต้นมา รัชสมัยพระเจ้า ปราสาททอง ปรากฏว่ามีการก่อสร้าง วัดวาอาราม และปราสาทราชวัง เพิ่มขึ้นจำนวนมาก น่าเสียดายว่าสิ่งก่อสร้างในสมัยพระองค์ได้ถูกทำลายเสียสิ้นเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พินาศ ครั้งสุดท้าย จึงหลงเหลือแต่วัดไชยวัฒนาราม และปราสาทนครหลวงเพียงสองแห่งเท่านั้น เฉพาะ วัดไชยวัฒนารามจัดว่าเป็นวัดที่สร้าง ได้อย่างโอ่อ่าประณีตและสวยงามที่สุด แม้ในแผ่นดิน พระบรมโกฐเมื่อราชฑูตลังกาแวะเข้าชมวัดนี้ ก็ได้พรรณาความงามไว้อย่าง เลิศล้น เมื่อศึกษา จากลวดลายกนกที่สลักลงบนใบเสมาวัดไชยวัฒนาราม ทำให้ตระหนักชัดว่า ลายสมัยอยุธยา ตอน กลาง แม้จะประดิษฐ์ให้กลายเป็นลายกนกมากแล้ว ก็ยังนิยมทำเป็นลายอันเลียนแบบธรรมชาติอยู่ ลายบางแห่งที่ ขมวดก้านกนกเป็นแบบธรรมชาติ คงรักษาแบบแผนลายสมัยอยุธยา ตอนต้น ไว้โดย สมบูรณ์ ดังลายบนใบเสมา วัดไชยวัฒนาราม เป็นต้น
     จากการศึกษาลวดลายที่วัดสำคัญนี้ เป็น กุญแจดอกสำคัญไขให้เราทราบว่า อันการประดิษฐ์ลวดลายเป็นลายไทยโดยสมบูรณ์ เช่นลาย เครือเถาตัวนกคาบ ช่อหางโต และกนกแบบต่างๆ นั้น ต้องเป็นผลงานของช่างตั้งแต่สมัย พระนารายณ์เป็นต้นมาด้วยสมัยพระนารายณ์อิทธิพล ลายโรโคโค้ ได้แพร่หลาย เข้ามา พร้อมกับ แบบสถาปัตยกรรม ดังวัดตะเว็ดเป็นต้น แบบลายเครือเถาของโรโคโค้ผสม กับลายกนก แบบไทย ที่หน้าบันวิหารสำคัญแห่งนี้เป็นต้นเค้าให้เห็นคติการประดิษฐ์ลายกนกเปลวอันฟูเฟื่องสมัยอยุธยาตอน ปลายเป็นอย่างมาก จริงอยู่ลายเครือเถา ประกอบตัวกนก ของสมัยอยุธยา ได้ปรากฏโฉมหน้า ตาม บานประตู บนหน้าบันพระอุโบสถมาแล้ว แต่ก็เป็นแบบแผนของศิลปะไทยแท้ๆ ล่วงสมัยอยุธยา ตอนปลายนับตั้งแต่สมัยพระนารายณ์เป็นต้นไป สมัยนี้มีการค้าขาย ติดต่อกับชาติต่างๆ อย่างกว้าง ขวาง ที่นิยมกันมากที่สุดคือเครื่องลายคราม ดังปรากฏในบันทึกของชาวฝรั่งเศส ในท้องพระคลัง หลวงและร้านขุนนางสำคัญจะมีเครื่องลายครามเต็มไปหมด แม้ของบรรณาการ จะส่งไปถวาย พระเจ้าหลุยส์แห่งฝรั่งเศสก็มีเครื่องลายคราม จำนวนมาก แบบอย่างศิลปะฝรั่งเศส เปอร์เซีย และ จีน ได้เข้ามาคลุกเคล้ากับศิลปะสมัยพระนารายณ์ ก่อให้เกิดศิลปะอันเฟื่องฝัน อีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะ ได้กล่าวต่อไป...
     ในภาคของศิลปะอยุธยาตอนปลาย ศิลปะลวดลาย ของอยุธยาตอนกลาง จึงยังคง เป็น แบบไทยแท้และเป็นขนาดดั้งเดิม มิใช่ลูกผสมแต่ประการใด พระพุทธรูปที่พระระเบียง วัดไชยวัฒนาราม และที่พระเมรุทิศเมรุราย อันเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐพอกปูน จะมีชิ้นศิลาเล็กน้อยที่พระอุโบสถ บ่งว่าสมัยอยุธยาตอนปลายความนิยมการทำพระพุทธรูปศิลาเลิก นิยมกันแล้วตรวจจากวัดวรเชษฐารามสมัยพระเอกาทศรถก็ไม่มีศิลา มีแต่พระก่ออิฐปูนปั้น จึงอาจ กล่าวได้เต็มที่ว่าพระพุทธ รูปศิลาได้หมดความนิยม ไปตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง สมัยพระเจ้า ทรงธรรม และพระเจ้าปราสาททองเริ่มนิยมทำ พระ ทรงเครื่องกันมาก ดังพระทรงเครื่องวัดตูม และวัดใหญ่ประชุมพลเป็นต้น แม้พระปูนประจำพระเมรุทิศ เมรุราย วัดไชยวัฒนารวม เป็นแบบ ทรงเครื่องพระพุทธลักษณะของพระพุทธรูปสมัยนี้มีพระพักตร์ยาวรี งดงาม เข้าใจว่าพระประธาน วัดหน้าพระเมรุกับวัดศาลาปูนจะถูกพระเจ้าปราสาททองไปซ่อมเสียใหม่ โดยพอกทับองค์พระ เดิมไว้ชั้นในด้วย ลักษณะคล้ายกับวัดไชยวัฒนารามมาก เคยตรวจสอบ องค์พระ ประธานวัด หน้าพระเมรสมัยก่อนซ่อมพบว่า มีการพอกทับกันหลายซับหลายซ้อน ที่ปรากฏภายนอก ต้องเป็น ฝีมือช่าง สมัยพระเจ้าปราสาททองอย่างแน่นอน การที่ยัง มีผู้เข้าใจว่า พระพุทธรูปสมัยอยุธยา ตอนต้น ส่วนใหญ่ทำด้วยสำริดส่วนพระศิลาพึ่งทำขึ้นสมัย พระเจ้าปราสาททอง จึงเป็นความ เข้าใจอันคลาดเคลื่อนอย่างมาก จริงอยู่เราพบพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ เช่นวัดพนัญเชิง วัดมงคลบพิตร วัดธรรมิกราชและพระเศียรขนาดใหญ่ในพิพิธภัณฑ ์อีกมากมาย
     แต่ขณะเดียวกันก็ พบพระศิลาสมัยอยุธยาตอนต้น จำนวนมากเพียงแต่ว่าการจะ เนรมิตรูปขนาดใหญ่ เช่น หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงกับวัดมงคลบพิตร จะแสวงหาศิลาขนาดมหึมาด้วยความ ยากลำบาก สมัยอโยธยา จึงทำการหล่อองค์พระด้วยสำริด ถ้าขนาดย่อมลงมาเช่นที่ วัดใหญ่ไชยมงคล และวัดสมณโกฐาราม ก็ทำด้วยศิลาทั้งนั้นในสมัยอโยธยาตอนปลาย สมัยอยุธยาตอนกลางไม่นิยมทำพระขนาดใหญ่ สังเกตจากพระประธานพระอุโบสถ วัดไชยวัฒนาราม วัดพระพุทธบาท วัดตูม และ วัดประชุมพล ล้วนมีขนาดกลาง จึงต้องก่อบานชุกชีสูงขึ้น ยิ่งสมัยอยุธยาตอนปลายพระประธานก็ย่นย่อเล็กลงมาอีก ฐานชุกชี ก็วิจิตรพิสดารมากขึ้น



<<กลับไปหน้าที่แล้ว | ไปลุยต่อกันอีกหน้ากับ ศิลปะอยุธยาตอนปลาย >>
การแต่งกายสมัยอยุธยา | ศิลปวัฒนธรรมอยุธยา