ศิลปวัฒนธรรมอยุธยา(ตอนที่3)


ศิลปะอยุธยาตอนปลาย
     สมัยอยุธยาตอนปลายเริ่มตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือตั้งแต่ปีเสวยราชย์ พ.ศ.๒๑๙๙ เป็นต้นไป ด้วยรัชสมัยนี้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น หลายประการซึ่งเป็นเหตุ ให้เกิด การเปลี่ยนแปลงปฏิรูป ในวงการศิลปะ เปลี่ยนโฉมหน้า เป็นอีกแบบหนึ่งแปลกไปจากเดิมมาก ประการแรก อาณาจักรอยุธยาสมัยนั้นเริ่มปฏิรูปวงการปกครองใหม่ โดยสมเด็จพระนารายณ์ มหาราช เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติ ซึ่งมีความสามารถเข้ามารับราชการในตำแหน่งสูงๆได้โดย เสรี เป็นเหตุให้วิเทโศบายของเมืองไทยสมัยนั้นทันสมัยก้าวรุดหน้า ไปอย่างรวดเร็ว โดยไทย เราไม่เสียเปรียบชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาค้าขายในอยุธยาอย่างคับคั่งเลย ผลก็คือได้เงินเข้าท้อง พระคลัง มากขึ้นกว่าเดิมชาวต่างชาติซึ่งเข้ามามีอำนาจใหญ่เป็นถึงอัครเสนาบดี คือเจ้าพระยา วิไชเยนทร์เป็นฝรั่งชาติกรีก ซึ่งได้แสดงความสามารถ เป็นที่ประจักษ์โดยชาวฝรั่งเศสหลายคน
     ผู้เขียนจดหมายเหตุได้ยกย่องชมเชยความเฉลียวฉลาด ของท่านผู้นี้เป็นอย่างมาก แต่ขณะ เดียว กันชาวฮอลันดากลับไม่ชอบหน้า ด้วยฮอลันดาหรือดัชทมีนโยบายผูกขาดการค้า และมีเบื้องหลัง คิดจะฮุบเมืองไทยไว้ใต้อำนาจเช่นเดียวกับที่ทำสำเร็จในปัตตาเวียมาแล้ว ชาวฮอลันดา เข้ามา ตั้งสถานีการค้า เป็นห้างใหญ่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาถัดวัดพนัญเชิงไปทางทิศใต้ ใกล้กับหมู่บ้าน ญี่ปุ่น ชาวฝรั่งเศสผู้เข้ามาในงบฑูตฝรั่งเศศสมัยนั้น ได้กล่าวยกย่องชมเชยตึก อันใหญ่โต ของ ห้างฮอลันดา ว่าสวยงามสง่าและ ใหญ่โตมาก นอกจากชาวฮอลันดา จะเข้ามาสร้างอาคาร แบบ ยุโรป ณ อยุธยาเป็นแห่งแรกแล้วยังมีบาดหลวงคณะต่างๆ จากฝรั่งเศส เข้ามาทำการสอน ศาสนา อย่างเป็นล่ำเป็นสันพร้อมกับสร้างโบสถ์ฝรั่งไว้อย่างสวยงาม ทางนอกตัวเกาะ ทิศตะวันออก เฉียงใต้ของกรุงศรีอยุธยา
     นอกจากนี้ผลจากการติดต่อ ทางการฑูตซึ่งทางไทย ได้ส่งท่านราชฑูต โกษาปานไปฝรั่งเศส จนสามารถนำเอานายช่างวิศวกร นายช่างศิลป์ และทหารฝรั่งเศส มายัง เมืองไทยเป็นจำนวนมาก นายช่างวิศวกรได้ทำการติดตั้งน้ำพุอันสวยงามในพระนครศรีอยุธยา และเมืองลพบุรี และยังได้วางแปลนเมืองละโว้ นครราชสีมา กับสร้างป้อมใหญ่ตรง เมืองบางกอก สองฝั่งแม่น้ำเพื่อสกัดกั้นอำนาจของฮอลันดา ซึ่งกำลังคุกคามไทยอยู่ในขณะนั้น กำลังทหาร ฝรั่งเศสส่วนหนึ่งอยู่ประจำป้อมเมืองบางกอกส่วนหนึ่งออกตระเวนไปตามฝั่งทะเล กับอีกส่วนหนึ่ง ไปประจำ อยู่ยังเมืองมะริด อันเป็นเมืองสำคัญของอยุธยาทางฝั่งทะเลตะวันตก สินค้าต่างๆ จาก ยุโรป ได้แพร่หลายเข้ามายัง อาณาจักรอยุธยาอย่างกว้างขวาง เช่น พรมเปอร์เซีย ซึ่งจะถูกนำ ไปปูพื้นคฤหาสถ์ขุนนางผู้มั่งคั่ง ในพระราชวังและกุฏีสงฆ์ของพระราชาคณะ ยังมีรูปภาพอัน เป็น ภาพพิมพ์ด้วยมือกับภาพเขียนของยุโรป ส่งเข้ามาขาย ยังเมืองไทยด้วย ภาพเหล่านี้ถูกนำ ไป ประดับบ้านเรือน และที่ต่างๆแม้บนพระเมรุที่ตั้งพระบรมศพของพระนารายณ์มหาราชเอง สินค้า อื่นๆ เช่น ศิลปะประยุกต์ต่างๆก็หลั่งไหลเข้าสู่อยุธยาอย่างมาก จนมีเครื่องลายคราม กับข้าวของ ต่างๆเต็มท้องพระคลัง บ่งถึงความมั่งคั่งของอยุธยาในยุคนั้นเป็นอย่างมาก...
     ชาวฝรั่งเศส และ ชาวยุโรป เช่น ฮอลันดา กับชาติอื่นๆ เช่น อาหรับ และญี่ปุ่น ได้เข้ามาดำเนินชีวิตในอยุธยา อย่างอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยุโรปซึ่งผิวขาว พระอุโบสถสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่วัดยาง ตำบลสามแยกไฟฉายมีรูปปั้นปั้นประดับหน้าบัน รูปลายกนก และเทพนม ตัวเทพนม นั้นคือเทวดา รูปร่างเป็นฝรั่ง ไว้ผมยาวหยิกเป็นลอนสวมหมวกฝรั่ง ใส่เสื้อแขนยาวมีลูกไม้เป็นระบายที่ข้อมือ นั่นคือทัศนะเทวดาของคนอยุธยาในยุคนั้น
     เมืองไทยปฏิรูปตนเองก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว พระราชวังในลพบุรีซึ่งสร้าง ขึ้นใช้เป็นที่รับฑูต และแขกเมือง ประดับด้วยกระจก ทำจากยุโรป เต็มทั้งผนัง ตึกรับแขกเมืองที่ลพบุรี ซึ่งเรียกกันว่า ตึกวิไชเยนทร์ ก็ปลูกสร้างแบบฝรั่ง เป็นตึก สองชั้น แบบเรอนาซอง เพราะแบบอย่างอาคารของฝรั่ง เช่นห้างวิลันดา กับตึกวิไชเยนทร์ ตึกปิจูที่ข้างวัดเสาธงทอง ทำเป็นอาคารสูงสองชั้น มีหน้าต่างถี่โปร่ง มีการใช้หน้าต่าง แบบ อาร์คโค้ง เหล่านี้เป็นแบบแปลกตา แสงสว่างเข้าในอาคารมากขึ้น การสร้างก็ไม่ยากสลับซับซ้อน จนเป็นเหตุให้คนไทยเอาแบบบ้าง อาคารแบบแรกในสมัย พระนารายณ์ซึ่งเอา อย่างฝรั่ง เป็นอาคาร ลูกผสมคืออาคารโบสถ์วัด ตะเว็ดอยู่ใ่กล้คลอง ประจาม ทางทิศใต้ ของวัด พุทไธยสวรรย์ อาคารนี้เห็นผนังด้านข้างเจาะหน้าต่างโค้ง หน้าบันก่ออิฐปั้นปูนเป็นลาย แบบโรโคโค้ของ ฝรั่งเศส ผสมกับลายนกคาบของไทย อาคารตึกแบบนี้ ได้ปรากฏปฏิรูปแก้ไข ให้ดีขึ้น ดังเช่น ตำหนักวัดพุทไธสวรรย์ วิหารวัดเจ้าย่าริมคลองสระบัว และวิหารวัดตึก รวมทั้งพระราชวังในวังนารายณ์ราชนิเวศน์ กับ พระที่นั่งเย็น ในลพบุรีด้วย
     อาคารแบบใหม่ซึ่งหน้า ต่างเจาะถี่ ใช้แบบผนังรับ น้ำหนักเครื่องบนหลังคานี้ ได้กลายเป็นแบบอันนิยมสร้างพระอุโบสถ พระวิหารสมัยอยุธยาตอนปลายอย่างกว้างขวาง ดังเช่น วัดพญาแมนที่ตำบลลุมพลี อยุธยา ปฏิสังขรณ์สร้างในสมัยพระเพทราชา พระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม สร้างขึ้นในสมัยพระเพทราชา พระอุโบสถวัดตองปุ สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พระอุโบสถวัดกุฏีดาว ปฏิสังขรณ์ใน สมัยพระเจ้าท้ายสระ พระอุโบสถวัดธรรมรามปฏิสังขรณ์สร้างในสมัยพระนารายณ์ ...พระอุโบสถ และพระวิหารในสมัยอยุธยาตอนปลาย แยกลักษณะออกเป็นสองแบบ คือ
  1. แบบที่ ๑ เป็นพระอุโบสถ ขนาดย่อมก่อผนังหุ้มกลองหน้าหลังเชื่อมผนังเป็นหน้าบันยันอกไก่ และปั้นปูนเป็นรูปลายเครือเถา ประดับถ้วยชาม และปั้นปูนลวดลายในตรงที่เป็นช่อฟ้าใบระกา มีปรากฏในที่ต่างๆ ดังนี้ พระอุโบสถวัดยาง สามแยกไฟฉาย ธนบุรี พระอุโบสถวัดบางเสาธง ธนบุรี พระอุโบสถ วัดธรรมาราม อยุธยา พระอุโบสถวัดช่องลม อยุธยา พระอุโบสถวัดกลาง สมุทรปราการ พระอุโบสถวัดท่าหลวง อ่างทอง พระอุโบสถวัดทอง คลองบางพรม ธนบุรี พระอุโบสถวัด บางขุนเทียนนอก ธนบุรี
  2. แบบที่ ๒ เป็นพระอุโบสถ เจาะหน้าต่างถี่ มีเสารับชายคาปีกนก ด้านหน้า และด้านหลังด้านละสองเสา เสาเป็นแบบย่อมุมสิบสอง บัวหัวเสากลีบยาวหลังคา สลักไม้มีช่อฟ้า ใบระกา มีลายสลักไม้หน้าบัน ปรากฏในที่ต่างๆดังนี้ พระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม อยุธยา พระอุโบสถวัดใหม่ข้างวัดภคินีนาถ ธนบุรี พระอุโบสถวัดพิชัยสงคราม(วัดนอก) สมุทรปราการ พระอุโบสถวัดเขียน อำเภอวิเศษชัยชาญ อ่างทอง พระอุโบสถวัดโพธิบางโอ ธนบุรี
     ภาพเขียน สมัยอยุธยาตอนปลาย ส่วนใหญ่ก็คล้ายครั้งสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นทุกอย่าง คือเขียนภาพ เทพชุมนุมผนังด้านข้าง ส่วนบน ผนังระหว่างช่องหน้าต่างเขียนรูปพุทธประวัติ หรือทศชาติชาดก ผนังด้านหลังเขียนรูปเสด็จลงจากดาวดึงส์ ผนังด้านหน้าเขียนรูปมารผจญ ภาพเขียนสมัยอยุธยา ตอนปลายปรากฏตามที่ต่างๆดังนี้
  1. ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ เขียนเรื่อง ทศชาติชาดกและเรื่องราวในพระคัมภีร์ต่างๆ เช่นไตรภูมิและ ยักษ์ กับเทวดา ใช้สีมากขึ้นกว่า สมัยอยุธยาตอนต้น มีสีเขียวและสีน้ำเงินเพิ่มขึ้นด้วย
  2. ผนังพระอุโบสถวัดเขียน อำเภอ วิเศษไชยชาญ อ่างทอง เขียนผนังระหว่างหน้าต่างรูปสังข์ทอง และชาดกตอนอื่นๆ
  3. ผนัง พระอุโบสถวัดปราสาท เขียนรูปเทวดายืนสลับกับเรื่องราวพระพุทธประวัติ และแสดง ขนบธรรม -เนียมประเพณีต่างๆ สมัยอยุธยา สีประมาณเกือบเป็นสีเดียว
  4. ผนังวิหาร วัดใหม่ประชุมพล เขียนรูปเทพชุมนุมนั่ง สลับกับเจดีย์ย่อมุมสิบสอง สมัยพระเจ้าปราสาททอง เบื้องหลัง พระ ประธานเป็นรูปพระพุทธเจ้าในเรือนแก้วล้อมรอบด้วยลวดลายบนพื้นสีน้ำตาลแดง มีสัตว์ต่างๆ เช่นกระรอกและนกไต่เต็มมีรูปโขลงช้าง รูปฝูงม้า และนกยูง นับว่าเป็นภาพอันน่า ยกย่อง ชมเชยมาก
  5. ผนังพระอุโบสถ วัดท่าหลวง อำเภอวิเศษไชยชาญ อ่างทอง เขียนเป็นรูป ทศชาติชาดก ระเบียบการเขียนภาพคล้ายวัดสุวรรณาราม
  6. ผนังพระอุโบสถ วัดเกาะเพชรบุรี รูปเจดีย์ใหญ่สลับกับภาพพระพุทธองค์ปางต่างๆ ฝีมือช่างสมัยพระบรมโกฐ มีจารึกบอก ศักราช ปีที่เขียนไว้ด้วย
  7. ผนังวิหาร วัดใหญ่อินทราราม (วิหารเก่า) ชลบุรี ผนังด้านหน้ารูปมารผจญ ผนังด้านหลังรูปเสด็จจากดาวดึงส์ ด้านข้างลบเลือนหมด แต่เห็นผนังข้างบน เป็นรูปพระพุทธรูป อันดับ แทนเทพชุมนุม บ่งว่าเป็นภาพเขียนต้นของอยุธยาตอยปลาย
นอกจากจิตรกรรมฝาผนัง ตามวัดดังกล่าว รวมทั้งที่ไม่กล่าวถึงอีกหลายแห่ง
     จิตรกรรมอยุธยายังมีอีกลักษณะหนึ่งคือภาพ เขียนลายทอง ซึ่งนิยมเขียนบนตู้พระธรรมต่างๆ ภาพเขียนลายทองสมัยอยุธยาตอนปลาย บ่งถึงความรุ่งเรืองในการใช้เส้น ได้งดงามเป็นเยี่ยม แม้ลวดลายก็เบิกบานเต็มที่ ดังเช่นลายตู้ พระธรรมฝีมือวัดเชิงหวายเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายทองตู้พระธรรมชิ้นอื่นอีกจำนวนมาก เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายฝีมือทัดเทียมกันทั้งนั้น ลายอันปรากฏในตู้พระธรรม สมัย อยุธยาตอนปลาย ส่วนใหญ่นิยมเขียนกนกเปลว ซึ่งช่อกนกเปลวได้ไปปรากฏบยลายสลัก หน้าบัน วัดป่าโมกข์ อันทำขึ้นสมัยพระเจ้าท้ายสระลักษณะกนกตัวยาวปลายแหลม และยังปรากฏบน ลาย หน้าบัน วัดพรหมนิวาส (วัดขุนญวน) ข้างวัดศาลาปูนในอยุธยาเป็นต้น ลายไทยสมัยอยุธยา บ่งถึงความคลี่คลายขยายตัวงามอย่างสุดขีด ไม่มียุคสมัยใดจะเนรมิตลวดลายได้งดงามเท่านี้ ยังปรากฏลาย ตามประตูฝังมุก เช่นลายบานประตูฝังมุก วัดบรมพุทธาราม ฝีมือช่างสมัย พระเพทราชานำมาไว้ในกรุงเทพฯ และบานประตูฝังมุกสมัยพระบรมโกฐ อันปรากฏที่พระวิหาร หลวงพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ซึ่งได้ให้อิทธิพล แก่ช่างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นอย่างมาก ดังปรากฏฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ บานประตูโบสถ์วัดพระแก้ว และช่าง สมัย รัชกาลที่ ๓ บานประตูโบสถ์วัดพระเชตุพน ทำได้อย่างวิจิตรบรรจงงดงาม ทัดเทียมกับช่าง สมัยอยุธยาตอนปลายมาก จนอาจกล่าวได้ว่าศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย คงเบิกบานข้าม อาณาจักรมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งยุคกรุงรัตนโกสินทร์
     รัตนโกสินทร์ ศิลปะสลักไม้ของอยุธยาตอนปลาย ยังคงปรากฏเหลือให้เห็นจำนวนมาก เช่นธรรมาสน์ยาววัดเชิงท่า และธาามาสน์วัดศาลาปูน ธรรมาสน์วัดบางขุนเทียนนอก ธนบุรี ธรรมาสน์วัดพระยาทำ ธนบุรี ธรรมาสน์กลม ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ธรรมาสน์ในวัดคลองเตยตำหนักปลายเนินของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และธรรมาสน์เก่าในศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี เป็นต้น ฝีมือธรรมาสน์อยุธยา บ่งถึงการช่างสลักไม้สมัยนั้นคงครอง ความเป็นเอก เช่นเดียวกับ การช่างสาขาอื่น ช่างสลักไม้สมัยอยุธยา จะทำตัวกนกอ่อนพริ้วและซ้อนกัน ปลายกนกบิดพับ ไปมา ราวกับธรรมชาติของใบไม้ ลายสลักไม้ยังคงปรากฏที่หน้าบัน วิหารวัดธรรมาราม หน้าบัน วัดศาลาสี่หน้า ธนบุรี หน้าบันวัดใหม่เทพนิมิต ธนบุรี หน้าบันศาลาการเปรียญวัดเชิงท่า หน้าบัน พระอุโบสถวัดป่าโมกข์ อ่างทอง หน้าบันพระอุโบสถวัดพรหมนิวาสน์ อยุธยา เป็นต้น
     ดังได้กล่าวถึง ภาพลายทอง อันปรากฏอยู่บนตู้พระธรรมแล้วยังมีภาพลายทองเขียนประดับบนตำหนักประทับแรม เช่น หอเขียนวังสวนผักกาด และตำหนักพระเจ้าแผ่นดินที่วัดไทรเป็นต้น เฉพาะที่ตำหนักวัดไทร เขียนลายทองแบบลายรดน้ำ ทั้งผนังด้านนอก และภายในอย่างประณีตพิศดารมาก
     ลายปูนปั้น อันวิจิตรของสมัยอยุธยาตอนปลายคงปรากฏพบเห็นได้ทั่วไปตามพระเจดีย์รุ่นนั้น และลายซุ้ม ประตูอาคาร พระอุโบสถและพระวิหารตามสถานที่ต่อไปนี้
  1. หน้าบันพระอุโบสถวัดเขาบันไดอิฐ เพชรบุรี ฝีมือช่างสมัยปลายสุด เข้าใจว่าสมัยพระบรมโกฐ เป็นลายปูนปั้นอันงดงาม มากทั้งหน้า บันด้านหน้ากับด้านหลัง
  2. หน้าบันพระอุโบสถวัดไผ่ล้อม เพชรบุรี ฝีมือช่างสมัยพระเพทราชา ยังมีปูนปั้นผนัง ด้านหลังเป็นรูปปราสาทต่างๆ ฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย ใบเสมาวัดนี้เป็น ใบเสมาสมัยพระเพทราชา
  3. หน้าบันพระอุโบสถวัดกลางวรวิหาร สมุทรปราการ เป็นลายสมัย พระนารายณ์
  4. ลายปูนปั้นที่ซุ้มประตูวิหารหลวง วัดราชบูรณะ อยุธยา ฝีมือช่างสมัยพระบรมโกฐ
  5. ลายปูนปั้น ซุ้มหน้าต่างวัดโรงช้าง ราชบุรี สมัยพระเพทราชา
  6. ลายปูนปั้นหน้าบัน พระอุโบสถ วัดธรรมาราม อยุธยา
งานวิจิตรกรรมของช่างสมัยอยุธยา นอกจากจะปรากฏบนงานกราฟิก เช่น ลายรดน้ำปิดทอง ลายมุกต่างๆ กับวิจิตรกรรม ฝาผนังแล้ว ยังมีการเขียนตกแต่ง บนผนังระเบียง และผนังพระเจดีย์ด้วย ดังเช่นภาพเขียนเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์สลับกันบนผนัง พระระเบียง วัดไชยวัฒนาราม กับภาพเขียนบนผนังห้องเจดีย์ใหญ่วัดใหม่ประชุมพล เป็นรูปลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เหมือนกัน ทั้งสองแห่ง ฝีมือช่างสมัยพระเจ้าปราสาททอง ที่พระอุโบสถวัดสระบัว กับที่ศาลาการ เปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี ทั้งสองแห่งมีการเขียนลวดลายลงบนเครื่อง บนหลังคา ด้วย เส้นทอง พื้นไม้ทาสีดินแดง เช่นเขียนบนคาน และระแนงรับกระเบื้องชายคา เฉพาะที่วัดสระบัว เขียนลายดาวเพดาน กับรูปมังกร พญานาค เป็นลายอันงามให้คุณค่าทางสุนทรียภาพอย่างสูง
     นอกจากจะเขียนภาพประดับอย่างละเอียดจุกจิกประณีตแล้ว สมัยอยุธยาตอนปลายยัง ตกแต่ง เครื่องใช้ต่างๆ ด้วยลวดลายสลักไม้อย่างงดงาม เช่น คานหามซึ่งปรากฏอยู่ ณ พิพิธภัณฑ -สถานลพบุรี เป็นเสลี่ยงสลักทองลวดลายเป็นแข้ง สิงห์ซ้อนเป็นชั้นๆ บ่งว่าเป็นเสลี่ยง ของเจ้านาย ชั้นสูงของอยุธยา กับเสลี่ยงสำหรับพระราชาคณะ ซึ่งอยู่ที่วัดพนัญเชิง ยังมีการ สลักลวดลาย ลงเป็น เรือพาหนะประจำตำแหน่ง ซึ่งในจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศซึ่งเข้ามาสมัยนั้นว่า ล้วนสลักเสลาเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เป็นลวดลายอันงามอย่างมหัศจรรย์ ยังคงมีตัวอย่างปรากฏอยู่ที่ ครุฑโขลนเรือพระที่นั่ง กษัตริย์อยุธยา ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
     เครื่องทอง สมัยอยุธยาตอนปลายส่วนใหญ่ถูกทำลายโดยขโมยที่ขุดคุ้ยตามเจดีย์ เอาทองมาหลอมไปขาย เสียหมด คงเหลือเท่าที่ ปรากฏในห้องทองคำของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ล้วน เป็นเครื่องทองสมัยพระนครินทราธิราชซึ่งขุดมาจาก กรุวัดราชบูรณะ กล่าวกันว่าประเพณี สมัย โบราณมักจะขนเอาเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์ซึ่งสวรรคต เอาไปบบจุไว้ในกรุ ของปรางค์ หรือ เจดีย์ รวมกับพระอัฐิของกษัตริย์นั้นด้วย เครื่องทองเหล่านี้ถูกขโมยทำลายไปเสียจำนวนมาก ที่เหลืออยู่เป็นส่วนอันตกหล่น อันขโมยผู้ลักลอบขุดกรุหลงเหลือไว้ และบางแห่งยังขุดไปไม่ตลอด ที่พระเจดีย์สามองค์ วัดพระศรีสรรเพชญ์ อันสถาปนาขึ้นในสมัยพระรามาธิบดีที่ ๒ มีข่าวว่า นายพร้อม นักขุดกรุคนสำคัญ ได้ลักลอบขุดเครื่องทองของกษัตริย์ ขนเอาไปถึงสามคันรถเจ็ก โดยมีร้านค้าทองที่ตลาดหัวรอเป็นตัวแทนรับซื้อทองเหล่านั้น เอาไปหลอมหล่อ เป็นเนื้อทอง อีก ต่อหนึ่ง เราได้สูญเสียสมบัติอันล้ำค่าของชาติไปจำนวนมากโดยฝีมือพวกลักลอบขุดกรุเหล่านี้ อันที่จริงการขุดทำลายโบราณสถาน เช่น เจดีย์ต่างๆ ได้เคยทำกันเป็นล่ำเป็นสันอยู่สมัยหนึ่ง ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ชาวยุโรปซึ่งเข้ามาในสมัยนั้นบันทึกไว้ว่า คนไทยไม่ทำมาหากิน อะไรอื่น ได้ร่วมมือกับคนจีนขุดคุ้ยตามเจดีย์เก่าๆ เอาสมบัติออกขาย ทำเช่นนี้ทั่วไปทุกหน ทุก แห่ง ด้วยถึงคราววิบัติ ข้าวยากหมากแพง ศิลปะอยุธยาตอนปลาย จึงเหลือแต่ความประทับใจ ให้แก่ ช่างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทำการเนรมิตศิลปะอันงดงาม สืบต่อไป คงเป็นศิลปะอันงาม สง่าด้วยดำเนินรอยตามครูเดิมไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งที่จริงช่างผู้สร้างศิลปกรรมแห่งยุคเริ่มก่อสร้าง กรุงเทพพระมหานคร ก็คือช่างอยุธยาอันตกค้างอยู่นั่นเอง มิใช่ใครที่ไหนอีก ฝีมือความจัดเจน เก่าๆ คงหลงเหลืออยู่ อย่างสมบูรณ์ ดังนี้เมื่อเขาเหล่านั้นทำการเนรมิตบ้านเมืองขึ้นใหม่ จึงสามารถเนรมิตได้งดงามวิเศษสุด ดังปรากฏที่พระที่นั่งมหาปราสาท วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ราชรถ ภาพเขียนอันยิ่งใหญ่ที่ผนังพระที่นั่งพุทไธยสวรรย์แห่งวังหน้า กับภาพเขียนในสมุด ไตรภูมิพระร่วงฉบับ พิพิธภัณฑ์เบอลิน เป็นต้น



<<กลับไปหน้าที่แล้ว
การแต่งกายสมัยอยุธยา | ศิลปวัฒนธรรมอยุธยา